เนื้อร้ายอาชญากรรมลุกลามทั่วทั้งทวีปเอเชีย

Read in English Read in မြန်မာ Read in Tiếng Việt

ในเขตพื้นที่ที่กฎหมายเข้าไม่ถึงแถบลุ่มน้ำเมยซึ่งใช้แบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มอาชญากรคือ พื้นที่ที่มีความพยายามปราบปรามแก๊งอิทธิพลติดอาวุธเหล่านี้ โดยรัฐบาลจีนกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาร์ ซึ่งบางครั้งถือเป็นลูกน้องที่ภักดีของรัฐบาลปักกิ่ง โดยให้ประเทศไทยตัดการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังศูนย์กลางการพนันและการฉ้อโกงขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรจีนที่มีที่ตั้งอยู่อีกฟากของแม่น้ำเมยในประเทศเมียนมาร์ โดยที่กองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force: BGF) ภายใต้การดูแลของทหารในพื้นที่ซึ่งเป็นพันธมิตรกลุ่มอาชญากรได้ตอบโต้ด้วยการขู่ว่าจะปิดการค้าชายแดน หลังจากนั้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ก็ปรากฏขึ้นในเขตปกครองนั้น โดยกองกำลังรักษาชายแดนและกลุ่มอาชญากรเป็นผู้นำ ทั้งนี้ไม่มีคำอธิบายหรือการดำเนินการใดๆ จากฝ่ายกองทัพเมียนมาร์ ผู้บังคับบัญชาได้รับผลประโยชน์จากอาชญากรรมเหล่านี้ (หากไม่ใช่ผลประโยชน์ของทั้งกองทัพ) ทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินการต่อได้ตามปกติ

ด่านตรวจของทหารตามแนวชายแดนเมียนมาร์ที่แม่สาย ประเทศไทย, 9 พฤษภาคม 2555 (จูลิโอ ดิ สเตอร์โก/อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน)
ด่านตรวจของทหารตามแนวชายแดนเมียนมาร์ที่แม่สาย ประเทศไทย, 9 พฤษภาคม 2555 (จูลิโอ ดิ สเตอร์โก/อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน)

บริเวณแนวชายแดนที่ไร้กฎหมายของเมียนมาร์ซึ่งมีภูมิศาสตร์และตัวละครในท้องถิ่นที่หลากหลาย ในช่วงปลายปีที่แล้วในภูมิภาคเริ่มมีความตระหนักเกี่ยวกับการที่เขตพื้นที่ที่มีอิทธิพลของกลุ่มอาชญากรกำลังขยายตัวและมีการเรียกร้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นจากสื่อ ภาคประชาสังคม ตลอดจนรัฐบาล แม้ว่าเขตพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้มิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่พัฒนาการที่เลวร้ายลงได้สร้างความตื่นตระหนกไปสู่ระดับนานาชาติ ภายหลังการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิดของปักกิ่งส่งผลให้คนงานชาวจีนในเขตอาชญากรรมเหล่านี้ต้องดิ้นรนกลับบ้าน อาชญากรจึงเริ่มหันมาล่อลวงผู้หางานจากทั่วโลกด้วยการเสนองานที่ค่าตอบแทนสูงและทันสมัย จากนั้นก็ลักลอบนำคนเหล่านั้นข้ามพรมแดนไปเป็นแรงงานทาสยุคไซเบอร์ ให้ทำงานหลอกลวงเงินทางอินเทอร์เน็ต

แม้จะมีการรับรู้มากขึ้นว่าเขตอิทธิพลเหล่านี้เป็นภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทั่วโลก ทว่าก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ความพยายามจะกำจัดมันมักถูกทลายลงด้วยผลประโยชน์ที่พัวพันในพื้นที่เหล่านี้ กลุ่มอาชญากรที่มีอำนาจ, กลุ่มติดอาวุธในท้องถิ่น, สภาวะอธิปไตยที่เปราะบาง และการคอร์รัปชัน โดยมีชเวโก๊กโก่ เมืองการพนันและการต้มตุ๋นเป็นศูนย์กลาง

กองทัพเมียนมาร์นั้นไม่มีทั้งเจตจำนงและความสามารถที่จะจัดการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของตนเอง ทำให้การป้องปรามอาชญากรรมข้ามชาติภายใต้การควบคุมของกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงมีน้อยลง ยิ่งไปกว่านั้นกองทัพเมียนมาเองกำลังต่อสู้กับการปฏิวัติเต็มรูปแบบเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารทั่วประเทศจึงทำให้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ การแก้ไขปัญหานี้ขึ้นอยู่กับบทบาทของประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในการปิดกั้นการเข้าถึงเครือข่ายอาชญากรรมและทรัพยากร สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งก็ตกเป็นเหยื่อด้วยนั้น คลื่นอาชญากรรมนี้สะท้อนถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังเติบโตซึ่งต้องการการตอบสนองเอาจริงเอาจัง

กองกำลัง BGF กับองค์กรอาชญากรรมที่หยั่งรากลึกในเมียนมาร์

ขณะนี้มีเขตอาชญากรรมที่แบ่งออกได้อย่างชัด ๆ อย่างน้อย 17 แห่ง ขนาดเนื้อที่ใช้สอยที่ใช้ตั้งสำนักงานที่เป็นฐานปฏิบัติการรวมกันประมาณ 5 ล้านตารางเมตร ทอดยาวไปตามแนวแม่น้ำเมยมีระยะกว่า 31 ไมล์ บริเวณชายแดนเมียนมาร์และประเทศไทย

แม้จะมีการควบคุมชายแดนและการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เขตพื้นที่เหล่านี้ก็ขยายอาณาเขตขึ้นอย่างมากภายหลังรัฐประหารในปี พ.ศ. 2564 อย่างเช่น เคเคพาร์คโซนที่โด่งดัง บน Tik-Tok จากการขายอวัยวะของเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ปฏิเสธการทำงานให้กับแก๊งต้มตุ๋นในพื้นที่ ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 26 อาคารเป็นมากกว่า 75 อาคารในระหว่างปี 2564 ถึงพฤษภาคม 2566

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีประชากรจากกว่า 46 ประเทศตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม โดยส่วนใหญ่นั้นเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ที่ถูกส่งตัวเข้าสู่เมียนมาร์ผ่านทางไทย แม้ว่าจะมีความตื่นตัวมากขึ้นจากสื่อและองค์การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่กลุ่มอาชญากรก็ได้ขยายความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในแพลตฟอร์มการจ้างงานออนไลน์และตั้งบริษัทจัดหางานปลอม สร้างเครือข่ายกับพวกลักลอบค้ามนุษย์ และตั้งกิจการไปในพื้นที่อื่นทั่วเมียนมาร์

ในเดือนมีนาคม 2566 พบอาชญากรรมเพิ่มขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเคลื่อนไหวอยู่ สร้างแรงกดดันมหาศาลให้มีการจัดการปัญหานี้ กลุ่มประชาสังคมชาวกะเหรี่ยงได้แสดงความกังวลว่าการดำเนินการที่ไร้ศีลธรรมของกองกำลังรักษาชายแดนเป็นการบ่อนทำลายการปกครองและโอกาสในการมีประชาธิปไตยและการปกครองตนเองในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งผู้นำฝ่ายต่อต้านชาวกะเหรี่ยงก็ถูกกังขาว่าเกี่ยวข้องกับแผนการของกองกำลังรักษาดินแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เดือนเมษายน ความตึงเครียดได้ลุกลามไปสู่การสู้รบด้วยอาวุธเมื่อกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธฝั่งประชาธิปไตยโจมตีอาณาจักรอาชญากรของกองกำลังรักษาชายแดนในเมืองชเวโก๊กโก่และธุรกิจที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ ของกองกำลังรักษาชายแดนในเมืองเมียวดี ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ชเวโก๊กโก่เป็นศูนย์กลางของยาเสพติดและการค้าประเวณี ซึ่งเงินสกปรกถูกนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนให้แก่รัฐบาลทหาร” รัฐบาลเผด็จการทหารตอบโต้ด้วยกองกำลังร่วมระหว่างกองกำลังรักษาชายแดนและกองทัพบก สกัดกั้นนักรบฝ่ายต่อต้านที่รุกคืบ บดขยี้กลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Force: PDF) กลุ่มสำคัญ และจับตัวประกันไว้หลายสิบชีวิต ความมุ่งมั่นของรัฐบาลทหารแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้ชเวโก๊กโก่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการก่ออาชญากรรมก็ได้

กลลวงออนไลน์ – "เชือดหมู" – ลุกลามไปทั่วโลก

จากที่เริ่มต้นด้วยธุรกิจการพนันออนไลน์ผิดกฎหมายเป็นหลัก ในขณะนี้เขตอาชญากรรมกำลังมุ่งเน้นกับการหลอกลวงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “แผนเชือดหมู” หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า “ชาซูปัน” เป็นอุบายซึ่งมีที่มาจากประเทศจีนในราว ๆ ปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากโควิดทำให้กำไรจากธุรกิจการพนันมีลดน้อยถอยลง กลุ่มอาชญากรรมในเครือข่ายของจีนจึงหาหนทางทำกำไรเพิ่ม แผนเชือดหมูคือวิธีการที่นักต้มตุ๋นหลอกล่อเหยื่อด้วยการสร้างความสัมพันธ์ออนไลน์เป็นเวลาระยะหนึ่งจนเกิดความเชื่อใจ จนในที่สุดนักต้มตุ๋นก็เสนอโอกาสการลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ และมักจะโอนผลตอบแทนให้เหยื่อบนแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าถูกกฎหมาย กระบวนการนี้เรียกว่า "ขุนหมู" ซึ่งก็จะดำเนินการลักษณะนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนเหยื่อมีความไว้เนื้อเชื่อใจพอที่จะมอบเงินทุนจำนวนมากให้ จากนั้นนักต้มตุ๋นก็จะ "เชือดหมู" แล้วหายตัวไปพร้อมกับเงิน องค์กรอาชญากรรมบางกลุ่มกำลังมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์รูปแบบใหม่เพื่อสืบหาผู้ที่มีแนวโน้มจะหลงกลและตกเป็นเหยื่อบนเว็บไซต์โซเชียลมีเดียของชาติตะวันตกและบน WhatsApp เพื่อให้แผนการหลอกลวงมีประสิทธิผลมากขึ้น รวมไปถึงการใช้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลในการสร้างคอนเทนต์ด้วยรูปภาพและวิดีโอ และอีกทั้งยังใช้ ChatGPT เพื่อสร้างสคริปต์และเนื้อหาสำหรับแผนหลอกลวง

กองทัพและกองกำลังรักษาชายแดน ผู้ให้ความคุ้มครองเขตอิทธิพลของกลุ่มอาชญากรรมในเมียนมาร์

อุปสรรคสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ขยายของกลุ่มอาชญากรรมในเมียนมาร์คือความโกลาหลในการปกครองและสภาวะไร้กฎหมายที่เกิดจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จากแต่เดิมที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพยายามหยุดยั้งการหลั่งไหลเข้ามาของแก๊งอันธพาลชาวจีน รัฐบาลทหารกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามภายหลังรัฐประหาร ปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายก็กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ใจกลางของเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในใจกลางเมืองอาชญากรรมอย่างชเวโก๊กโก่

ความรุ่งเรืองของกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงที่ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมของกองทัพเมียนมาร์เพียงในนาม มีที่มาจากการรัฐประหารและสายสัมพันธ์ที่มีกับหัวหน้าอาชญากรชาวจีน

กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงได้ถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปีคริสตศักราช 2000 โดยกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เรียกว่ากลุ่มกะเหรี่ยงพิทักษ์ประชาธิปไตย(กะเหรี่ยงพุทธ) ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2560-2562 ได้ร่วมพันธมิตรกับอาชญากรคนสำคัญ 2 คน ได้แก่ เสอ เจ้อเจียงผู้ก่อตั้งกลุ่มทุนหยาไถ่ อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้ง และหวัน ค็อกคอย (หรือที่รู้จักกันในชื่อไอ้ฟันหลอ) ผู้นำกลุ่มอันธพาลที่เป็นหัวหน้าองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่รู้จักกันในชื่อสมาคมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหงเหมินโลก โดยที่กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้จัดหาที่ดินและให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นของเมืองการพนันผิดกฎหมายขนาดใหญ่สองแห่งแรกใกล้ชายแดนไทย ซึ่งได้แก่ ชเวโก๊กโก่และไซซีกัง (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อโซนตงเหมย) ตามลำดับ

เมื่อตำรวจไทยจับกุมเสอ เจ้อเจียงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ทำให้อาณาจักรอาชญากรขนาดมหึมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงซึ่งเพิ่มความมั่งคั่งและอำนาจให้กับกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกัน หวัน ค็อกคอยก็ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่จีน ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะหันเหความสนใจไปที่การฟอกเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เข้าสู่เศรษฐกิจจีน สถานการณ์เช่นนี้ก็ยิ่งทำให้กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงสามารถควบคุมกิจการอาชญากรรมได้กว้างขวางขึ้น นับตั้งแต่เริ่มปรากฏตัวในเมียนมาร์ เขตอาชญากรรมอิสระทั้งหลายต้องอาศัยผู้นำกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงในการสร้างความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ด้วยการรักษาความปลอดภัย การควบคุมการค้าชายแดน และการจัดการความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมาร์และกลุ่มติดอาวุธที่เป็นคู่แข่ง กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงและผู้นำกองกำลังจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจการที่ผิดกฎหมายดังกล่าว

ผลประโยชน์จากความร่วมมือนี้จะถูกนำไปใช้ในการยกระดับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารของกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงให้ทันสมัย ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลชิตตู่และพันตรีโม โทน มิตรสหายร่วมสมรภูมิของเขา ความจริงแล้วอาวุธของกองกำลังของนายพลชิตตู่นั้นมีคุณภาพเหนือกว่าของกองทัพเมียนมาร์ จึงทำให้กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงของเขาเป็นหนึ่งในหน่วยที่อันตรายที่สุด “ภายใต้บังคับบัญชา” ของกองทัพเมียนมาร์

ประเทศไทยมองเห็นภัยคุกคาม แต่เดินหน้าต่อต้านเพียงเล็กน้อย

ด้วยความต้องการอิทธิพลและการสนับสนุนด้านวัตถุ กองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มอาชญากรรมจีนจึงลงทุนอย่างหนักในประเทศไทย พวกเขาใช้ไทยเพื่อนำผู้คนเข้าสู่เขตอาชญากรรมและเพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจการ อีกทั้งไทยยังเป็นแหล่งและเส้นทางคมนาคมสำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยของกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อการควบคุมจุดผ่านแดนสำหรับการค้าทวิภาคีอยู่ในมือของบีจีเอฟ

ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 ทางการไทยมีความกังวลมากขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า “ธุรกิจจีนสีเทา” และการปะทุของคดีค้ามนุษย์ชาวไทยและชาวต่างชาติหลายหมื่นคนเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ เหตุฆาตกรรม การเข่นฆ่าด้วยอาวุธและข่าวลือเกี่ยวกับการลักพาตัวชาวจีน การทำร้ายร่างกายหรือการทรมานเหยื่อในไทย ทำให้เกิดเสียงต่อต้านอย่างรุนแรงจากสาธารณชน

ด้วยเหตุนี้ไทยจึงเริ่มเดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง เสอเจ้อเจียงหัวหน้าแก๊งอาชญากรหยาไถ่เตรียมถูกส่งตัวไปรับโทษที่ประเทศจีน คณะทำงานของไทยเพื่อปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยก็ได้เดินหน้าสืบสวน "ธุรกิจสีเทา" ของจีนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยตำรวจไทยได้ทำการบุกค้นสำนักงานสมาคมหงเหมินในประเทศไทยและจับกุมหยู ซินฉี อาชญากรรายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชเวโก๊กโกคนที่สอง และจับกุมเจ้าของไนท์คลับลับหลายแห่งที่จัดไว้สำหรับหัวหน้าแก๊งอาชญากรชาวจีน

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มาตรการเหล่านี้ก็ยังล้มเหลวในการทำลายฐานปฏิบัติการทางอาชญกรรมในไทยที่ปฏิบัติการในเมียนมาร์ ยังมีการดำเนินการก่อสร้างรอบ ๆ แม่สอดและผู้เล่นใหม่ ๆ กำลังปรากฏตัวตามแนวชายแดนไทยไปจนถึงดินแดนทางตอนเหนือของเมียนมาร์ซึ่งควบคุมโดยกองทัพสหรัฐว้า ในขณะเดียวกัน กลุ่มกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงก็ได้ท้าทายความพยายามบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยอย่างโจ่งแจ้งภายหลังตำรวจไทยจับกุมเสอ เจ้อเจียงโฆษก BGF ประกาศต่อสาธารณะว่าการจับกุมจะไม่ "ส่งผลต่อการปฏิบัติการตามปกติ" ในชเวโก๊กโก่ เมื่อประเทศไทยเดินหน้าตัดการส่งกระแสไฟฟ้าบริเวณชายแดนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 BGF ก็ประกาศขู่จะปิดชายแดนซึ่งมีตลาดการค้าทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุด หลังจากที่ประเทศไทยตัดการจ่ายไฟฟ้า BGF ก็นำเข้าน้ำมันดีเซลเพิ่มสำหรับเครื่องปั่นไฟและพลิกการปราบปรามให้กลับกลายเป็นโอกาสในการสร้างรายได้

มาตรการควบคุมกลุ่มอาชญากรของจีนส่งผลลัพธ์หลายรูปแบบ

จีนในฐานะที่เป็นเป้าหมายหลักของปฏิบัติการต้มตุ๋นข้ามชาติได้ดำเนินการขั้นตอนสำคัญเพื่อปกป้องพลเมืองของตนเอง และอาศัยความสัมพันธ์ของตนกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจัดการปัญหานี้ โดยทางปักกิ่งได้ปรับปรุงข้อกำหนดต่อต้านการฟอกเงินสำหรับธนาคาร ตัดอาชญากรจากการเข้าถึงโทรคมนาคมของจีนโดยการตรวจสอบ WeChat สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์แก่สาธารณชน และสั่งห้ามชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าเสียดายที่มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถหยุดยั้งเครือข่ายมิให้แพร่กระจายในระดับภูมิภาคได้ พวกกลุ่มแก๊งเองมีการปรับตัวโดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดนอกประเทศจีนมากขึ้นและปรับเปลี่ยนไปหาผู้แสวงหางานชาวจีนรุ่นใหม่

เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการจีนเน้นย้ำว่ารัฐบาลทหารพม่าต้องปราบปรามอาชญากรรมที่มุ่งเป้าไปที่ชาวจีน ถึงกระนั้นนายพลชิตตู่และกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงของเขาก็ยังคงดำเนินกิจการโดยไม่ถูกลงโทษใดๆ ทำให้ชัดเจนว่าแม้แต่ปฏิบัติการทางทหารก็ไม่สามารถขับไล่อาชญากรได้เหมือนอย่างดังเช่นกองกำลังสนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งก่อการไปเมื่อเดือนเมษายน เมื่อเป็นเช่นนั้นกองทัพติดอาวุธอื่นๆ จึงพากันสร้างเขตแดนของตนเองขึ้นในอัตราเร่งที่น่าเป็นกังวล

ความร่วมมือข้ามพรมแดน หนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ขยายของอาชญากรรมที่มีฐานในเมียนมาร์

เพื่อหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ สหรัฐฯ น่าจะมีศักยภาพพอที่เป็นผู้นำในการปราบปรามโดยร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อคว่ำบาตรกองกำลังรักษาชายแดนที่นำโดยชาวกะเหรี่ยงและตัดบริการโทรคมนาคมแก่กองกำลังอาชญากรติดอาวุธทั้งหมดในเมียนมาร์  จึงต้องมีการประสานงานอย่างรัดกุมกับประเทศเพื่อนบ้านและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ การช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์จากทั่วโลกที่ยังคงติดอยู่ในเมียนมาร์จำเป็นต้องอาศัยปฏิบัติการข้ามชาติขนานใหญ่


PHOTO: ด่านตรวจของทหารตามแนวชายแดนเมียนมาร์ที่แม่สาย ประเทศไทย, 9 พฤษภาคม 2555 (จูลิโอ ดิ สเตอร์โก/อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทริบูน)

The views expressed in this publication are those of the author(s).

PUBLICATION TYPE: Analysis